Article 1

เมื่อตกเป็นผู้ต้องหา หรือ จำเลยในคดีอาญาควรทำอย่างไร

แม้รัฐธรรมนูยฉบับปัจจุบันจะประกันสิทธิเสรีภาพของคนเราไว้รวมทั้งกำหนดเอาไว้ว่า ห้ามจับกุม คุมขัง ตรวจค้นตัวคน หรือกระทำการใดอันกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของคนเรา เว้นแต่อาศัยอำนาจของกฎหมาย แต่ถ้าท่านไปกระทำความผิดขึ้นมา ท่านก็ต้องถูกบังคับโดยกฎหมายให้ต้องรับโทษซึ่งกระบวนการรับโทษนั้นจะรวมถึงการถูกจับกุม การถูกคุมขัง หรืออาจถูกตรวจค้นตัวหรือบ้านของท่านได้

เมื่อมีคนมาแจ้งความกับตำรวจกล่าวหาท่าน ตำรวจจะเรียกตัวท่านไปพบเพื่อสอบปากคำ การเรียกตัวก็อาจจะเป็นการเชิญมา หรือ ออกหมายเรียกก็ได้ และเมื่อปรากฎว่าท่านเป็นผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิด ท่านก็อาจถูกจับ ซึ่งการจะถูกจับนั้นก็จะต้องมีหมายจับ

การจะจับคนคนหนึ่งนั้นไม่ใช่เรื่องที่ตำรวจจะสามารถจับกุมได้เลยเหมือนเมื่อก่อนเพราะรัฐธรรมนูญใหม่ได้กำหนดให้ต้องมีคำสั่งศาลหรือหมายศาล เท่ากับว่าศาลท่านเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลในเรื่องเสรีภาพในตัวประชาชนมากขึ้น อย่างไรก็ตามอย่าคิดว่าตำรวจไม่มีอำนาจจับกุมท่าน เพราะหากเป็นการกระทำผิดซึ่งหน้า หรือพบว่าคนนั้นกำลังทำการอันควรสงสัยว่าจะทำผิดหรือทำผิดมาแล้วและจะหลบหนี เช่น ถือปืนวิ่งมา มีเหตุจำเป็นตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ตำรวจก็สามารถจะใช้อำนาจจับกุม คุมขังท่านได้โดยไม่ต้องใช้หมายจับของศาล

สิ่งที่ควรรู้มากกว่านี้คือ แม้จะมีหมายจับก็จะจับทันทีเลยไม่ได้เพราะกฎหมายห้ามจับในที่รโหฐาน คือที่ที่ไม่ใช่สาธารณะ เว้นเสียแต่ว่าตำรวจจะมีหมายค้นมาด้วย นั่นคือข้อที่ผู้กลัวถูกจับโดยหมายจับมักเก็บตัวในบ้าน ไม่กล้าย่างเท้าออกมาเพ่นพ่านจนเจอหมายจับ ท่านอาจเคยทราบว่าตำรวจต้องคอยดักซุ่มเพื่อรอโอกาสที่จะจับคนประเภทนี้ก็มี ซึ่งหากท่านถูกตำรวจจับกุมท่านมีสิทธิที่จะให้ญาติหรือทนายความเข้าพบได้ โดยทนายความสามารถเข้าร่วมรับฟังการสอบปากคำร่วมกับท่านได้ต่อไป

                                                                                                                                                ทนายอัศวิน

Visitors: 153,598